Smart Contract ในโลกคริปโตฯ
Table of Contents
เริ่มต้นจาก Smart Contract ในโลกคริปโตฯ นั้นคืออะไร ?
Smart Contract คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กซึ่งถูกเก็บไว้ในรูปของบล็อกเชน และถ้าแปลอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ‘สัญญาอัจฉริยะ’ ซึ่งเป็นได้ทั้งสัญญาว่าจ้าง การซื้อขาย หรือสัญญาของเอกสาร แต่แตกต่างจากสัญญาทั่วไปตรงที่สัญญาแสนฉลาดที่ว่านี้สามารถบันทึกข้อมูล ข้อตกลงสัญญา และสามารถยืนยันตัวเองได้ มันดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขที่ถูกเขียนไว้ครบถ้วน และกระจายสำเนาไปถึงทุกคนในระบบให้ตรวจสอบกันเอง โดยไม่ต้องมี ‘ตัวกลาง’ หรือมีคนมานั่งตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ซึ่งข้อดีที่สุดของมัน คือ การที่ไม่มีใครโกงสัญญาดังกล่าวได้ เพราะหากต้องการแก้ไขสัญญาต้องตามแก้ไขทุกสำเนาที่ถูกกระจายไปก่อนหน้านั้น
การทำงานของ Smart Contract ที่น่าสนใจในโลกคริปโตฯ
การทำงานเบื้องต้น คือ เมื่อคุณเขียนโค้ดโดยบอกว่า ‘ถ้าเกิด…แล้วจะเกิด…’ แล้วนำโค้ดไปใส่บนบล็อกเชน Smart Contract ก็จะพร้อมทำงาน
ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล มีหลายบล็อกเชนที่สนับสนุนการทำงานของ Smart Contract—ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ‘Ethereum’ ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานของสัญญาอัจฉริยะโดยเฉพาะ โดย วิตาลิก บูเจริน (Vitalik Buterin) ผู้พัฒนา Ethereum บอกว่า บล็อกเชนไม่ใช่แค่ใช้โอนเงินหากันไปมา มันสามารถประมวลผลโค้ด บันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกข้อมูลลงในนั้นได้ จึงสร้าง Ethereum ขึ้นมาเป็นบล็อกเชนตัวแรกที่มาพร้อมกับสามารถในการประมวลผลโค้ด และได้นิยาม Smart Contract ว่าคือการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์หรือเงินตราเข้าไปในตัวโปรแกรม และโปรแกรมนี้จะทำงานด้วยตัวของมัน ในจุดหนึ่งมันจะทำการเช็กเงื่อนไขว่า สินทรัพย์นี้ควรจะถูกส่งต่อไปที่ใคร หรือควรจะถูกโอนคืนกลับไปให้เจ้าของ
บนการทำงานของ Ethereum ผู้ใช้งานสามารถเขียน Smart Contract เชื่อมต่อกับอะไรก็ได้ โดยสัญญาจะทำงานเมื่อใส่เหรียญ Ethereum (ETH) เข้าไปในตัวสัญญานั้นๆ โดยระบุกฎระเบียบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเอาไว้ด้วย ซึ่งทำให้มีหลายบริการเกิดขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum นั่นเอง อย่างเรื่องการเทรดหรือประมูล NFT ก็คือหนึ่งในนั้น
ความสามารถของสัญญาอัจฉริยะมีดังนี้
- ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- ข้อมูลที่บันทึกไว้จะอยู่ตลอดไป หากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
- ทุกคนสามารถเข้าถึงและดูโค้ดได้ว่าเขียนอะไรไว้บ้าง
- สัญญาอัจฉริยะทำงานและยืนยันตามเงื่อนไขที่ระบุไว้อัตโนมัติ
Smart Contract ปรับใช้กับอะไรได้บ้าง ?
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นแล้วกัน ยกตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของ Smart Contract นั่นก็คือ ‘ตู้กดของอัตโนมัติ’ (vending machine) เมื่อคุณใส่เงินเข้าไปตามจำนวนที่กำหนด ตู้ก็จะออกสินค้าที่เราเลือกให้โดยอัตโนมัติ ทอนเงินอัตโนมัติ แต่ถ้าเงินใส่ไปไม่พอ มันก็จะแจ้งให้เราใส่เงินเพิ่ม จนกระทั่งสินค้าไหลลงมาจากเครื่องเมื่อ ‘เงื่อนไข’ —ซึ่งก็คือคำสั่งและจำนวนเงิน—ใส่ลงไปครบ
Siam Blockchain เคยยกตัวอย่างอื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจด้วยถึงความสามารถของ Smart Contract เช่น การที่มันสามารถปรับใช้กับการทำงานโครงสร้างใหญ่ของสังคมอย่าง ‘การทำใบขับขี่’ ได้ด้วย คือ เมื่อต้องการต่อใบขับขี่ กรมขนส่งจะส่งข้อสอบมาให้ทำในออนไลน์ หลังจากทำเสร็จ สัญญาอัจฉริยะจะรับหน้าที่เช็กว่าผลสอบผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ข้อมูลการสอบครั้งนี้ก็จะบันทึกไว้ จากนั้นผู้สอบก็โอนคริปโตฯ เป็นค่าเอกสาร เมื่อ Smart Contract ตรวจสอบว่า สอบผ่าน จ่ายเงินครบ ถือว่าบรรลุเงื่อนไขสัญญาที่ตั้งไว้ ก็จะทำการส่งใบขับขี่ให้ ซึ่งใบขับขี่ก็จะมาในรูปแบบดิจิทัลและถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชนเช่นกัน
แน่นอนว่าในอนาคต Smart Contract น่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้คนได้ไม่ยาก และช่วยลดการทำงานเอกสารของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่าหากเกิดการรันโค้ดผิดพลาด หรือโค้ดถูกทำลาย (ซึ่งมันใช้คำสั่งทำลายได้) เราจะฟ้องร้องใคร ฟ้องร้องกับบล็อกเชนได้หรือไม่ ดังนั้นสัญญาอัจฉริยะจึงเป็นเทคโนโลยีที่ยังคงต้องถูกพัฒนาต่อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ที่มา : thematter.co
support.bitkub.com
siamblockchain.com
สามารถติดตามเราได้ตาม Social Media ต่าง ๆ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและเทคนิคคอมพิวเตอร์ดี ๆ จาก KODEFIX ได้ที่
Facebook Page : KODEFIXThailand
Blockdit : www.blockdit.com/kodefix
Blogger : kodefix.blogspot.com
Website : kodefix.com